ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

 

    บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ด้วยความมุ่งมั่นที่จะให้เกิดการสร้างรากฐานระบบการทำงานที่ปลอดภัยและมีสุขอนามัยที่ดีต่อพนักงาน คู่ค้า ผู้รับเหมา ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการทำงานที่ดีและเป็นการสร้างสังคมการทำงานที่ปลอดภัยให้กับองค์กรสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ผ่านการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติรวมถึงมีการส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการทำงานที่ปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงจากการประสบอันตรายและเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานและดูแลคุณภาพชีวิตของพนักงานหรือลูกจ้างอย่างเหมาะสม โดยมีเป้าหมายในการคงไว้ซึ่งการเป็นองค์กรที่มีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเป็นศูนย์ (Zero Fatality) เพื่อการดำเนินธุรกิจที่ต่อเนื่องและยั่งยืน

นโยบายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

 

แนวทางการบริหารจัดการ

     การบริหารจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานกำกับดูแลโดยคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของบริษัทฯ โดยมีผู้บริหารสูงสุดหรือผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจเป็นประธานคณะกรรมการฯ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยตัวแทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างมีการประชุมหารือเป็นประจำและรายงานผลการประชุมต่อผู้บริหาร รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่เฝ้าระวังตรวจสอบ ติดตาม เสนอแนะ และรายงานการปฏิบัติงานทางด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานต่อผู้บริหาร นอกจากนี้บริษัทฯ มีการจัดตั้งฝ่ายความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม โดยมีคณะทำงานประจำโรงงานในแต่ละพื้นที่เพื่อการบริหารงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ขับเคลื่อนร่วมกับการกำหนดเป้าหมายและแผนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ 

    บริษัทฯ มีการติดตามผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พร้อมทบทวนแนวทางการบริหารจัดการโดยฝ่ายบริหารอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการประเมินความเสี่ยงของการดำเนินงาน โดยมีกระบวนการในการบ่งชี้อันตราย การประเมินระดับความเสี่ยง และการสอบสวนอุบัติการณ์ เพื่อระบุประเด็นประเมินความเสี่ยง (Risk) และโอกาส (Opportunity) ครอบคลุมกระบวนการปฏิบัติงาน กิจกรรม และพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เครื่องจักร อุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต ตลอดจนกิจกรรมในการดำเนินการของผู้รับเหมาที่มีนัยสำคัญต่อหน่วยงาน พิจารณาครอบคลุมถึงสถานการณ์ปกติ สถานการณ์ไม่ปกติ และสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงการกำหนดมาตรการควบคุมความเสี่ยงเพื่อลดโอกาสการเกิดและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในการปฏิบัติงานนั้น ๆ  

     โดยบริษัทฯ มีการสื่อสารมาตรการความปลอดภัยที่กำหนดไว้ให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนได้รับทราบและยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และมีการตรวจติดตามเพื่อประเมินความเสี่ยงในขณะปฏิบัติงานจริง ตลอดจนทบทวนผลการดำเนินงานภายหลังเสร็จสิ้นงานด้วยการประเมินความเสี่ยงประกอบด้วยขั้นตอนและเครื่องมือชี้บ่งอันตรายที่ครอบคลุมความเสี่ยงทั้งของงานประจำและงานไม่ประจำ เช่น Job Safety Analysis (JSA) ทั้งนี้บริษัทฯ มีกระบวนการศึกษาและพิจารณาการใช้เครื่องมือชี้บ่งอันตรายอื่น ๆ ที่หลากหลายและทันสมัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของกิจกรรมต่าง ๆ ให้การชี้บ่งอันตรายมีความละเอียดและครอบคลุมความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น ในการประเมินความเสี่ยงประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญ ดังนี้

 

    งานที่มีความเสี่ยงระดับปานกลางจนถึงระดับสูงจะถูกนำมากำหนดวิธีปฎิบัติงานและมาตรการป้องกันความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน เพื่อบรรเทาและควบคุมความเสี่ยง โดยมีแนวทางในการพิจารณาการควบคุมความเสี่ยงตามลำดับขั้นการควบคุม (Hierarchy of controls) ดังนี้

  

    โดยบริษัทฯ มีการกำหนดมาตรการจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ตามลำดับขั้นการควบคุม (Hierarchy of controls) ตลอดจนกำหนดแผนการสื่อสาร การเฝ้าระวังและติดตามความเสี่ยง ซึ่งหัวหน้างานมีหน้าที่ประเมินความเสี่ยงและสื่อสารให้กับผู้ปฏิบัติงานทุกคนทราบก่อนเริ่มปฏิบัติงาน โดยใช้เครื่องมือชี้บ่งอันตรายดังกล่าวข้างต้น นอกจากนี้ พนักงานและผู้รับเหมาทุกคนสามารถหยุดปฏิบัติงานได้หากพบเห็นอันตรายหรือความเสี่ยงด้านความปลอดภัย ทั้งนี้สำหรับอุบัติเหตุขั้นร้ายแรง บริษัทฯ มอบหมายให้คณะกรรมการความปลอดภัยฯ ทำการสอบสวนอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นทันที เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติการณ์นั้นๆ และนำไปสู่การกำหนดมาตรการป้องกันและลดความเสี่ยง รายงานการสอบสวนอุบัติการณ์ มาตรการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุการณ์ซ้ำ รวมทั้งสถานะการแก้ไขจะถูกนำไปรายงานในที่ประชุมคณะกรรมการความปลอดภัยฯ เป็นประจำทุกเดือน

 

การประเมินและบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน 

    บริษัทฯ มีกระบวนการสำรวจพื้นที่และประเมินความเสี่ยงทางด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานโดยเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพ จะประเมินความเสี่ยงในแต่ละขั้นตอนการปฏิบัติงานแต่ละพื้นที่เสี่ยง จากการประเมินความเสี่ยงพบว่าบริษัทฯ มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากการดำเนินงานเนื่องจากการปฏิบัติงานร่วมกับเครื่องจักรในสายการผลิตที่มีความร้อน สารเคมี และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่อาจก่อให้เกิดอัคคีภัย ซึ่งอาจส่งต่อความปลอดภัย การบาดเจ็บ สุขภาพ รวมถึงคุณภาพชีวิตในการทำงาน โดยมีการประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นทั้งต่อพนักงาน คู่ค้า ผู้รับเหมา ผู้มาติดต่อ และผู้มาปฏิบัติงานภายในบริษัทฯ รวมถึงอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อกระบวนการผลิตและทรัพย์สินของบริษัทฯ อาจทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง และอาจส่งผลให้กระบวนการผลิตเกิดการหยุดชะงัก บริษัทฯ จึงมีการวางมาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงอย่างรัดกุม สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ประเมิน ดังนี้

     นอกจากนี้บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับสุขอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานของผู้รับเหมาและผู้มาปฏิบัติงานภายในบริษัทฯ โดยใช้แนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องตามกฎกระทรวงในเรื่องการกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานในทุกโรงงานของบริษัทฯ มีระบบการบริหารจัดการและกำกับดูแลผู้รับเหมาครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกผู้รับเหมา การบริหารจัดการผู้รับเหมา ตลอดจนกระบวนการตรวจสอบ เพื่อให้มั่นใจว่าความเสี่ยงด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานได้รับการป้องกันด้วยวิธีการที่เหมาะสม

 

เป้าหมายด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย

     บริษัทฯ มีการตั้งเป้าหมายที่จะลดอัตราความถี่ของการบาดเจ็บถึงขั้นหยุดงาน (Lost Time Injury Frequency Rate: LTIFR) ของพนักงานและผู้รับเหมาให้เป็นศูนย์ โดยมีการกำหนดเป้าหมายรายปีแยกระหว่างพนักงานและผู้รับเหมา ซึ่งในปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทฯ มีการดำเนินงานทางด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานตามนโยบายและแผนงานที่กำหนด ทั้งการฝึกอบรมพนักงานทุกระดับตามกฏหมายกำหนด การตรวจประเมินทางด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย การตรวจประเมินผู้รับเหมา การเตรียมความพร้อมและตอบสนองต่อสภาวะฉุกเฉินโดยมีแผนตอบโต้อย่างทันท่วงที และมีมาตรการที่เหมาะสมครอบคลุมไปยังผู้รับเหมา ผู้มาติดต่อบริษัทฯ

 

ผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย

 


 

       บริษัทฯ ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย LTIFR ที่ตั้งไว้เป็นศูนย์ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดอุบัติการณ์ซ้ำในอนาคต บริษัทฯ จึงได้กำหนดการดำเนินการแก้ไขที่ขั้นตอนจากลำดับขั้นการควบคุม (Hierarchy of controls) รวมถึงการควบคุมทางวิศวกรรม (Engineering Control) เช่น การออกแบบอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากเครื่องจักร (Safety Guard) ที่เหมาะสม การกำหนดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment : PPE) ที่จำเป็นรวมถึงมีกระบวนการประเมินความเสี่ยงที่ชัดเจนและรัดกุม เป็นต้น พร้อมทั้งจัดให้มีมาตรการป้องกันอุบัติเหตุผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ เช่น

 

การอบรมด้านความปลอดภัย

    บริษัทฯ สนับสนุนและจัดให้มีการอบรมเพื่อเพิ่มความรู้ และทักษะทางด้านความปลอดภัยให้กับพนักงานทุกระดับ ตามความจำเป็นของสายงานและตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ความปลอดภัยสำหรับพนักงาน การปฐมพยาบาลและการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บเบื้องต้น การซ้อมอพยพหนีไฟและการฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้นเป็นประจำทุกปี

 

กิจกรรมสัปดาห์ความปลอดภัย

    บริษัทฯ จัดกิจกรรมสัปดาห์ความปลอดภัย เพื่อสร้างจิตสำนึกและความตระหนักทางด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่จะนำไปสู่วัฒนธรรมด้านความปลอดภัยที่ดีในองค์กรและช่วยกระตุ้นให้พนักงานได้ทบทวนความรู้ความเข้าใจด้านความปลอดภัยในการทำงาน และยังเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมที่นำไปสู่ความปลอดภัย ซึ่งเป็นรากฐานของความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ

 

การตรวจสอบด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

   บริษัทฯ ได้มีการตรวจวัด และประเมินสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างสม่ำเสมอ  เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ปฏิบัติงานทุกคนทำงานในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งผลการตรวจวัดล่าสุดพบว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล อุปกรณ์ฉุกเฉิน ชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้แก่ผู้ปฏิบัติงานอย่างเหมาะสมกับลักษณะงานเพียงพอต่อการใช้งานและสะดวกต่อการเข้าถึง นอกจากนี้บริษัทฯ มีการจัดทำโครงการสำรวจเหตุการณ์เกือบเกิดอุบัติเหตุ (Near Miss) เพื่อผลักดันและเปิดโอกาสให้มีการรายงานเหตุการณ์ที่เกือบก่อให้เกิดการเสียหายต่อทรัพย์สินหรือการบาดเจ็บต่อบุคคล พร้อมแนวทางแก้ไข เพื่อให้ การดูแลป้องกันความปลอดภัยครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด และมีการรวบรวมข้อเสนอของพนักงานเป็นข้อมูลและนำมาประเมินระดับความเสี่ยงเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันความเสี่ยง

     นอกจากนี้ บริษัทฯ กำหนดเป้าหมายในการควบคุมค่าระดับเสียงในทุกพื้นที่ของบริษัทฯ โดยค่าระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 70 เดซิเบลเอ และค่าระดับเสียงสูงสุด ไม่เกิน 115 เดซิเบลเอ ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องกำหนดค่าระดับเสียงรบกวนและระดับเสียงที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน พ.ศ. 2548

     โดยปี 2566 พบว่าคุณภาพเสียงมีค่าเกินมาตรฐานเกณฑ์ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยพบว่าบางพื้นที่ workshop Grinder และErema มีค่าคุณภาพเสียงเฉลี่ย 8 ชั่วโมง เท่ากับ 86 และ 90 dBAบริษัทฯ จึงได้มีนโยบายการอนุรักษ์การได้ยิน และมีการจัดมาตรการอนุรักษ์การได้ยิน เพื่อเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงโดยการปฏิบัติดังนี้

     - ควบคุมระดับเสียงที่พนักงานได้รับเฉลี่ยตลอดเวลาการทำงาน 8 ชั่วโมง ไม่ให้เกิน 85 dB(A) โดยควบคุมแหล่งกำเนิดเสียงหรือทางผ่านของเสียง หรือจัดหาอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่สามารถลดระดับเสียงดังที่เหมาะสมให้กับพนักงาน และส่งเสริมการใช้งานอย่างถูกต้อง

      - เฝ้าระวังการปฏิบัติงานของพนักงานที่ทำงานในพื้นที่ที่มีระดับเสียงดังเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงาน 8 ชั่วโมง เกิน 85 dB(A) ไม่ให้มีการสูญเสียการได้ยิน

    - ตรวจสมรรถภาพการได้ยินของพนักงานกลุ่มเสี่ยง เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มการสูญเสียการได้ยิน และนำไปใช้ในการเลือกวิธีการป้องกัน และการแก้ไขที่เหมาะสมถูกต้อง

     - ประชาสัมพันธ์ให้พนักงานทราบถึงพื้นที่ที่มีความเสียงและให้ความรู้ในเรื่องอันตรายจากเสียงดัง การควบคุม ป้องกัน และการใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล

    ทั้งนี้พนักงานทุกคนที่ปฎิบัติงานในพื้นที่ที่มีระดับเสียงดังเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงาน 8 ชั่วโมง ตั้งแต่ 85 dB(A) ขึ้นไป ต้องปฏิบัติตนด้วยจิตสำนึกความปลอดภัยในการป้องกันอันตรายจากเสียงดัง และลดความเสี่ยงในการสูญเสียการได้ยิน